เว็บบอร์ดฅนรักน้อง ข่าวสาร อานิสงส์ของทานตามลำดับ
ผู้เขียน : Thoonlyทูลลี่ ครับ   หัวข้อ : อานิสงส์ของทานตามลำดับอ่าน 1899 / ความคิดเห็น 0
รูปประจำตัว
Thoonlyทูลลี่ ครับ
  • 5 กระทู้ที่เริ่มไว้
  • 18 กรกฎาคม 2555
รูปไอคอน
หัวข้อ : อานิสงส์ของทานตามลำดับ
16/10/2555 23:13:00

อานิสงส์ของทานตามลำดับ

 


 

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับดังต่อไปนี้ คือ

๑. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็น้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีบุญวาสนาบารมี น้อยกว่ามนุษย์และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี

๒. ให้ทานแก่มนุษย์ ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า ให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๓. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล  แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๔. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล  แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะถวายทานดังกล่าว แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๕. ถวายทานแก่สามเณร ซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า ถวายทาน ดังกล่าวแก่พระสมมติสงฆ์ ซึ่งมีปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ

พระด้วยกัน ก็มีคุณธรรม แตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา มีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น "พระ" แต่เป็นเพียงพระสมมติเท่านั้น เรียกกันว่า "สมมติ-สงฆ์"

พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวช หรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น "พระ" ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกัน หลายระดับชั้น จากน้อยไปหามาก ดังนี้คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้

๖. ถวายทานแก่พระสมมติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายทานแก่ พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม (ความจริงยังมีการแยกเป็น พระโสดาบันปัตติมรรค และพระโสดาบันปัตติผล เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อ พอให้ได้ความเท่านั้น)

๗. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม 

๘. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายทานดังกล่าว แก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๙. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายทานดังกล่าว แก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๑๐. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายทานดังกล่าวแก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๑๑. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายทานแด่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๑๒. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายสังฆทาน ที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะได้ถวายสังฆทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๑๓. การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายวิหารทาน แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้าง โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่านํ้า ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทาง อันเป็นสาธารณประโยชน์ ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อนึ่งการสร้าง สิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ หรือสิ่งที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจ ในพระพุทธศาสนา เช่นโรงพยาบาล โรงเรียน บ่อนํ้า แท็งค์นํ้า ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน

๑๔. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ( ๑๐๐ หลัง ) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ ธรรมทาน แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้ธรรมทาน ก็คือ การเทศน์ การสอนธรรมะ แก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้ได้รู้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจใน มรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ได้กลับใจมาเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์แจกหนังสือธรรมะ

๑๕. การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "อภัยทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียว ก็ตาม การให้อภัยทานก็คือการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่น แม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะการให้อภัยทาน เป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อละ "โทสกิเลส" และเป็นการเจริญ "เมตตาพรหมวิหารธรรม" อันเป็นพรหมวิหาร ข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคล ที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ ย่อมเป็นผู้ทรงญาณ ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรม ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง "พยาบาท""ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทาน จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าทานทั้งปวง

อย่างไรก็ดี การให้อภัยทาน แม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่นๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้น ก็ยังอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่า "ฝ่ายศีล" เพราะเป็นการทำบุญบารมีคนละขั้นต่างกัน



เฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ กรุณา "เข้าสู่ระบบ" ก่อน เข้าสู่ระบบ

 

 
Online:  2
Visits:  6,167,912
Today:  420
PageView/Month:  30,602